top of page

พิธีสมโภชแม่โพสพ

      พิธีสมโภชแม่โพสพ หรือการทำขวัญข้าว ทำเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อแม่โพสพหรือข้าว และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพของชาวนา การทำขวัญข้าวเป็นพิธีกรรม ความเชื่อที่ชาวนามีต่อข้าว แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของภูมิปัญญา วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น

      พิธีสมโภชแม่โพสพ ของตำบลปลายกลัด อำเภอบางซ้าย เริ่มจากชาวนานำข้าวเปลือกมารวมกันที่วัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชน ตอนเช้าจะมีพิธีทำบุญถวายภัตตาหารพระสงฆ์ โดยชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานมาทำบุญร่วมกันที่วัด หลังจากนั้นชาวบ้านจะจัดขบวนแห่โพสพ เป็นขบวนรถตกแต่งสวยงาม แห่ไปตามหมู่บ้านในตำบล เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านมาร่วมพิธี ในช่วงบ่ายจัดให้มีการแข่งขัน การสานชะลอม เฉลว

การประกวดข้าวคะแนน หลังจากนั้นเริ่มพิธีสมโภชแม่โพสพ โดยหมอทำขวัญเป็นผู้ประกอบพิธี

       บริเวณที่ประกอบพิธีสมโภชแม่โพสพ มีขอบเขตกั้นเป็นรั้วลักษณะสี่เหลี่ยม กว้าง ยาว ตามปริมาณข้าวเปลือกที่ชาวนานำมาร่วมพิธี สูงประมาณ ๑๐๐ ซม. ตั้งฉัตรแต่ละมุม ๔ มุม และทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน มีด้ายสายสินล้อมรอบที่ปลายฉัตร ๓ ชั้น เรียกเขตราชวัตร ภายในมีข้าวเปลือก ของเซ่นสังเวย อาหารคาวหวาน บายศรีปากชาม รูปแม่โพสพ บายศรีหลักใหญ่ พืชผักผลไม้ เป็นต้น

        พิธีสมโภชแม่โพสพ หรือการทำขวัญข้าว  คล้ายกับการทำขวัญนาคในพิธีอุปสมบท  การสมโภชแม่โพสพ หมอทำขวัญจะแหล่พรรณนาให้เห็นความสำคัญของข้าว เริ่มตั้งแต่กำเนิดเมล็ดข้าว บุญคุณข้าว อัญเชิญขวัญแม่โพสพและขั้นตอนสุดท้ายคือการเวียนเทียน โดยผู้มาร่วมพิธีจะนั่งล้อมรอบเขตราชวัตร เวียนเทียน ๓ รอบเป็นเสร็จพิธี สำหรับข้าวที่นำมาประกอบพิธี จะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งถวายวัด อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไป

bottom of page