top of page

ผ้าลายดอกโสน

ผ้าลายดอกโสน

 

   

         

         ดอกโสนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเรื่องเล่ากันว่า ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลเวียงเหล็ก ทรงเลือกชัยภูมิ

ที่ตั้งพระราชวัง พร้อมทั้งเห็นพื้นที่ตำบลหนองโสนเหมาะสม เพราะมีต้นโสนเป็นจำนวนมาก กำลังออกดอกเหลืองอร่ามคล้ายทองคำแลสะพรั่งตา ดังนั้น จึงนำเอาดอกโสนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

 

 

 

 

 

 

          ธงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งออกเป็น ๓ แถบเท่า ๆ กัน มี ๒ สี สีฟ้าอยู่ตรงกลางขนาบด้วยสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำภาค ๑ ทั้งสองข้าง กลางธงบริเวณแถบสีฟ้ามีตราประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นรูปปราสาทสามห้องอยู่ภายใต้ต้นหมัน ภายในปราสาทมีสังข์ทักษิณาวัตรประดิษฐาน อยู่บนพานแว่นฟ้า ใต้รูปปราสาทมีคำว่า “อยุธยา” คันธงมีแถบสีเหลืองและแถบสีฟ้า ๒ แถบ

 

          ผ้าลายดอกโสน เป็นลวดลายที่เกิดจากการนำดอกโสน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสีฟ้า สีน้ำเงินของผ้ามาจากสีธงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำมาออกแบบเป็นลายผ้าดอกโสน  มีชื่อจังหวัด “พระนครศรีอยุธยา” บนผืนผ้า ซึ่งผ้าลายดอกโสนเกิดขึ้นในสมัย นายสุรพล กาญจนะจิตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดำรงตำแหน่ง ตุลาคม ๒๕๔๕ - กันยายน ๒๕๔๖) ได้มีนโยบายจัดทำเสื้อที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด จึงมีการออกแบบลวดลายผ้าลายดอกโสน โดยมีการประกาศในที่ประชุมให้รับทราบ และนำผ้าลายดอกโสนตัดเย็บเป็นเสื้อประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการสวมใส่ในทุกวันศุกร์ของข้าราชการ พนักงานและบุคลากร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงทำให้ผ้าลายดอกโสนเป็นที่รู้จักของประชาชน

ในจังหวัด มีการจำหน่ายเสื้อลายดอกโสนสำหรับสวมใส่ในโอกาสต่าง ๆ สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา ๒๐ ปีมาแล้ว และเป็นลายผ้าที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อย่างชัดเจน

          ปี พ.ศ.๒๕๖๕ กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมผ้าไทยและสิ่งทอท้องถิ่นที่เกือบสูญหาย ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง พร้อมยกระดับผ้าไทยให้มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงในเวทีโลก

และได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ค้นหาหรือออกแบบลายผ้าประจำจังหวัด จำนวน ๑ ลาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” โดยได้มีการประชุมพิจารณาคัดเลือกลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มติที่ประชุมเห็นชอบ “ผ้าลายดอกโสน” เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกาศรับรองลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

 

          ต่อมาสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการพัฒนาออกแบบผ้าลายดอกโสน โดยออกแบบลวดลายดอกโสนให้โดดเด่นเสมือนจริงและมีความสวยงาม ซึ่งได้ออกแบบลายผ้าดอกโสน ๒ แบบ คือ ผ้าลายดอกโสนแบบมีเชิงผ้า และผ้าลายดอกโสนแบบไม่มีเชิงผ้า

 

                           

                                ผ้าลายดอกโสน (พัฒนาใหม่)

ชนิดของผ้าลายดอกโสน มี ๒ ประเภท ดังนี้

๑. ผ้าลายดอกโสน ผ้าฝ้าย (ผ้าคอตตอน)   

๒. ผ้าลายดอกโสน ผ้าไหม

เทคนิคการผลิตผ้าลายดอกโสน

- เทคนิคบาติก

วิธีการผลิตผ้าลายดอกโสน

ผ้าบาติกด้วยเทคนิคการเขียนมือ โดยมีวิธีการผลิต ดังนี้

๑) เขียนลายดอกโสน และลอกลายลงบนผืนผ้า

๒) เขียนเทียน

๓) ลงสี

๔) เคลือบสี เพื่อความคงทนของลายผ้าให้สวยงาม ไม่ตกสี

๕) นำผ้าไปต้ม ซักจนกว่าเทียนจะออกหมดและรีดให้เรียบ

๖) นำผ้าบรรจุผ้าใส่ถุงและบรรจุภัณฑ์ เตรียมจัดส่ง

bottom of page