top of page

     การทำขวัญข้าวตั้งท้อง เป็นความเชื่อ เป็นพิธีกรรมที่ชาวนาปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่ครั้งบรรพบุรุษ ทุกวันนี้ ถึงแม้ฤดู

การทำนาจะเปลี่ยนไป ชาวนาก็ยังรักษาพิธีกรรมนี้อยู่ เนื่องจากชาวนาเชื่อว่า การทำขวัญข้าวหรือรับขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อแม่โพสพ หรือข้าวที่เลี้ยงคนทั้งโลก เมื่อทำแล้วจะได้ผลผลิตดี โรคภัยไม่มารบกวนต้นข้าว

     ขั้นตอนพิธีกรรม เมื่อข้าวตั้งท้อง ชาวนาจะเตรียมเครื่องสำหรับ ทำขวัญข้าว ประกอบด้วย

         ๑. ชะลอมขนาดย่อม เป็นรูปทรงกลม สานด้วยไม้ไผ่ขัดเป็นตา ๆ

         ๒. เฉลว เป็นรูปแผ่นกว้าง สานด้วยไม้ไผ่ มีลายขัดเป็นตา ๆ มี ๕ มุม

     ภายในชะลอมบรรจุของสำหรับให้แม่โพสพรับประทาน ได้แก่ ดินปั้นเป็นลูกกลมๆ เท่าลูกกระสุน หมาก พลู มะกอก มะดัน ของเปรี้ยวต่างๆ ที่สามารถหาได้ กล้วยหวีงาม มะพร้าวอ่อน แป้ง น้ำมันหอม การทำขวัญข้าวตั้งท้อง นิยมทำวันศุกร์ เมื่อเตรียมของแล้ว ชาวนาจะนำกิ่งสะแกมาเป็นหลักสำหรับปักที่แปลงนา แล้วนำชะลอมที่บรรจุของเปรี้ยวของหวานไว้แล้ว และเฉลวผูกติดกับกิ่งสะแก แล้วปักธงสามสีที่ปากชะลอม หลังจากนั้นนำผ้าม่วง ผ้าใหม่ ผ้าสไบ วางพาดบนต้นข้าว นำเครื่องทอง นาค เงิน เท่าที่มีมาคล้องให้ เมื่อใส่เสื้อ นุ่งผ้า ใส่นาค ใส่ทอง แต่งตัวให้แม่โพสพแล้ว ชาวนาจะกล่าวคำอธิษฐาน แล้วนั่งรอปรนนิบัติเงียบๆ ให้แม่โพสพอิ่มก่อนจึงกล่าวคำลาขอสิ่งของต่างๆคืน

        การทำขวัญข้าวตั้งท้อง

bottom of page